เนื่องจาก เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันถัดมาหลังจากประกาศใช้ ซึ่งจะถึงในวันที่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 นี้ ซึ่งหลักการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น มีเหตุผลว่า ในปัจจุบันการส่งมอบทรัพย์สินต่างๆ หรือการโอนทรัพย์สินโดยทางมรดก นั้นไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะมีจำนวนมากแค่ไหนก็ตาม ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงได้ประกาศใช้ออกมาเพื่อสร้างความเป็นธรรม และจะได้นำภาษีไปพัฒนาประเทศต่อไป
โดยกฎหมายลูกทั้ง 7 ฉบับ (ร่างพระราชกฤษฎีกาจำนวน 1 ฉบับ และร่างกฎกระทรวงจำนวน 6 ฉบับ รวมเป็น 7 ฉบับ ) มีสาระสำคัญคือ บุคคลที่ยกเว้นภาษีมรดก เพิ่มเติมจากสามีภรรยา อาทิ มรดกที่บริจาคสำหรับกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ วัดวาอาราม สภากาชาดไทย มูลนิธิหรือสมาคมตามประกาศของกระทรวงการคลัง สถาบันอุดมศึกษาเอกชนและโรงเรียนเอกชน บุคคลหรือองค์กรระหว่างประเทศตามข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ สหประชาชาติ สถานทูต สถานกงสุล บุคคลในคณะทูต คณะกงสุล
ส่วนทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีนั้น ประกอบด้วย
1.อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือจัดตั้งตามกฎหมายไทย
2.เงินฝากหรือเงินสด ที่อยู่ในสถาบันการเงิน ที่อยู่ในประเทศไทย
3.ยานพาหนะที่จดทะเบียนในประเทศไทย ส่วนทองคำ และผลประโยชน์จากประกันชีวิตนั้นไม่อยู่ในทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย
พร้อมกันนี้ยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์การหักภาระที่ถูกรอนสิทธิในการคำนวณมูลค่ามรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้รับมรดกยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากอาจติดสิทธิการเช่าจากเจ้าของเดิม จะให้มีการหักลดมูลค่าสินทรัพย์ที่จะเสียภาษีตามจำนวนปีที่ยังมีผู้เช่า
อย่างไรก็ตาม ผู้รับมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีผู้รับมรดก หากผู้รับเป็นผู้สืบสันดานเสีย 5% และผู้รับเป็นบุคคลภายนอกเสีย 10% นอกจากนี้ กรมสรรพากรให้ผู้รับมรดกสามารถผ่อนการเสียภาษีได้ 5 ปี หากผ่อนไม่เกิน 2 ปี ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่หากเกิน 2 ปี ต้องเสียดอกเบี้ย 0.5% ปี
เรียบเรียงข้อมูล โดย : นภัสนันท์ พิพัฒนกิจภูวดล